ผลวิจัยจากจีนเผย หลังพบผู้ป่วยโควิด – 19 เป็นซ้ำ หวั่นเชื้อแพร่กระจาย แนะเฝ้าระวัง ตรวจซ้ำวิธีต่าง คนไข้กักตัวเพิ่ม 14 วัน

เปิดเผยผลวิจัยจากจีน ผู้ป่วยโควิด 19 เป็นซ้ำเพราะเชื้อไวรัสยังไม่ได้หายไปไหน เป็นซ้ำหลุดรอด เกิดจากผลลบปลอม “False – Negative” จากหลายปัจจัย แนะโรงพยาบาลเพิ่มมาตรการ ตรวจเชื้อ 2 ครั้ง ภายในระยะห่าง 48 ชั่วโมง แทนระยะห่าง 24 ชั่วโมง ด้วยวิธีการที่ต่างออกไป และคนไข้กักควรตัวเพิ่มหลังออกจากโรงพยาบาล  14 วัน

หลังจากที่มีรายงานข่าวเรื่องตรวจพบเชื้อโควิด – 19 ซ้ำในผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วทั้งในจีน เกาหลี และไทย ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่าการติดเชื้อใหม่เป็นครั้งที่ 2 เกิดจากสาเหตุใด ดร. เยาวลักษณ์ มะปราง รสหอม  จากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  นักวิจัยโครงการ “สนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ศึกษาผลวิจัยจากจีน 3 เคส ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวพบว่า

การศึกษาชิ้นที่ 1 ทำการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิด - 19  จำนวน 172 คนที่ถูกปล่อยตัวกลับบ้านหลังจากรักษาจนอาการดีขึ้น ในช่วงวันที่ 23 มกราคม 2563 – 21 กุมภาพันธ์ 2563  ก่อนปล่อยตัวกลับบ้าน คนไข้กลุ่มนี้มีผลซีทีสแกนปอดดีขึ้น และทำการตรวจด้วยวิธี RT – PCR หรือ การตรวจแม่นยำระดับสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ไม่พบไวรัส 2 ครั้งในระยะเวลาตรวจห่างกัน 24 ชั่วโมง ต่อมาในช่วงกักตัวต่อที่บ้านมีการเก็บตัวอย่างจากทั้งช่องทวารหนัก และคอหอยหลังโพรงจมูกไปตรวจด้วยวิธี RT – PCR ทุกๆ 3 วัน พบไวรัสจากตัวอย่างที่เก็บจากช่องทวาร 14 คน และจากคอหอยหลังโพรงจมูก 11 คน รวม 25 คน จาก 172 คน หรือพบผู้ป่วย 14.5 % เป็นโรคโควิด – 19 ซ้ำ โดยคนไข้กลุ่มนี้มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ปี เป็นผู้หญิง 17 คน เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 6 คน        

จากประวัติการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระยะเวลาอยู่ใน โรงพยาบาลเฉลี่ย 12 – 18 วัน ได้รับยาต้านไวรัส 10 – 16 วัน (ไม่แตกต่างกับผู้ป่วยอื่นๆ) และออกจากโรงพยาบาลเฉลี่ย 1 – 4 วัน หลังมีผลตรวจเชื้อเป็นลบ ส่วนระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อนับจากวันออกจากโรงพยาบาลเฉลี่ย 1 – 10 วัน อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ตอนติดเชื้อเริ่มแรก คือ มีไข้ (68%) และไอ (60%) โดยมี 24 คนที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรง

ระหว่างการรักษารอบที่ 2 คนไข้กลุ่มนี้ได้รับยาสมุนไพรจีนสูตรทำความสะอาดปอด (ภายใต้การยินยอมของผู้ป่วย) ผลการตรวจเชื้อพบว่า เฉลี่ยภายใน 2.73 วัน หลังเข้าโรงพยาบาลรอบที่ 2  ผลตรวจไวรัสกลับไปเป็นลบอีกครั้ง จากการศึกษา ทีมวิจัยนี้จึงได้เสนอแนะว่า ก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้านควรทำการตรวจเชื้อ 2 ครั้ง ภายในระยะห่าง 48 ชั่วโมง แทนระยะห่าง 24 ชั่วโมง และควรทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยหายดีแล้วจริงๆ 

การศึกษาที่ 2  ได้เก็บข้อมูลของผู้ป่วย 1 คน  เป็นผู้ชายอายุ 54 ปี ที่รักษาโดยการให้ออกซิเจน ฮอร์โมน และยา หลังจากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสจากตัวอย่างที่เก็บจากบริเวณคอ 2 ครั้งติดต่อกัน (ห่างกัน 24 ชั่วโมง) ผู้ป่วยถูกย้ายไปยังหน่วยกักกันเพื่อสังเกตอาการต่อ แต่หลังจากนั้นอีก 5 วันก็ตรวจพบไวรัสอีกครั้งในทวารหนักและตัวอย่างเสมหะ และมีผลตรวจเป็นบวกไปเรื่อยๆ อีก 16 วัน ส่วนการศึกษาที่ 3 ได้วิเคราะห์ผู้ป่วยหญิงอายุ 46 ปี  ที่มีไข้ ปอดอักเสบ และได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ ผลตรวจเชื้อจากตัวอย่างที่เก็บจากบริเวณคอหอยเป็นลบ 2 ครั้งติดต่อกัน (การตรวจแต่ละครั้งห่างกัน 48 ชั่วโมง)  แต่ 3 วันต่อมาผลตรวจกลับเป็นบวกอีกครั้ง  และหลังจากนั้นผลตรวจก็กลับไปเป็นลบต่อเนื่อง

นักวิจัยจากทั้ง 2 การศึกษาให้ความเห็นตรงกันว่า ผลตรวจที่เป็นลบก่อนหน้าที่จะกลับมาเป็นบวก น่าจะเป็น ผลลบปลอม “False – Negative” หมายถึงตรวจพบไม่เจอเชื้อแต่จริงๆแล้วมีเชื้อ ซึ่งเกิดจากสาเหตุดังนี้    1.ตำแหน่งและประเภทตัวอย่างที่เก็บ  2.วิธีการในการเก็บตัวอย่าง  3. ผลจากยาต้านไวรัสหรือฮอร์โมน กรณีผู้ป่วยทานยารักษาโรคอื่นๆ พร้อมกับรักษาอาการโควิด – 19 4. ความไวของชุดตรวจ  ผลการศึกษาทั้ง 2 เคส นำไปสู่คำแนะนำเพิ่มเติมว่า  ควรมีการตรวจในตัวอย่างอื่นด้วย เช่น เสมหะ อุจจาระ เลือด เพราะไวรัสชนิดนี้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด แต่การเก็บตัวอย่างที่บริเวณคอหรือหลังโพรงจมูกอาจจะได้ไวรัสน้อยและเกิด ผลลัพธ์เทียมได้ รวมทั้งควรตรวจด้วยวิธีการอื่น เช่นตรวจวัดแอนติบอดี ก่อนที่จะปล่อยตัวผู้ป่วยกลับบ้าน และแนะนำว่าผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลควรกักตัวเองที่บ้านต่ออีก 14 วัน

ดร. เยาวลักษณ์ กล่าวสรุปข้อมูลงานวิจัยว่า การศึกษาทั้ง 3 เคสนี้ ค่อนข้างชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่าการตรวจพบเชื้อซ้ำในผู้ป่วยที่รักษาหายดีแล้ว น่าจะเกิดจากผลลบเทียม (False – Negative) ของการตรวจก่อนหน้านี้จากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจริงๆแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีไวรัสอยู่ในร่างกาย ซึ่งถ้าปล่อยกลับบ้านโดยไม่ตรวจสอบให้ดีอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ ซึ่งประเทศไทยเองก็อาจต้องพิจารณาปรับวิธีการและเกณฑ์การประเมินผู้ป่วยตามข้อมูลใหม่ๆ ที่ออกมา ก่อนที่จะปล่อยผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการป่วยซ้ำและการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น

 ข้อมูลอ้างอิง

 1.Yuan J, Kou S, Liang Y, Zeng J, Pan Y, Liu L. PCR Assays Turned Positive in 25 Discharged COVID-19 Patients [published online ahead of print, 2020 Apr 8]. Clin Infect Dis. 2020;ciaa398. doi:10.1093/cid/ciaa3982

2.Zhang JF, Yan K, Ye HH, Lin J, Zheng JJ, Cai T. SARS-CoV-2 turned positive in a discharged patient with COVID-19 arouses concern regarding the present standard for discharge [published online ahead of print, 2020 Mar 18]. Int J Infect Dis. 2020;S1201-9712(20)30126-0. doi:10.1016/j.ijid.2020.03.007

3.Chen D, Xu W, Lei Z, et al. Recurrence of positive SARS-CoV-2 RNA in COVID-19: A case report [published online ahead of print, 2020 Mar 5]. Int J Infect Dis. 2020;93:297–299. doi:10.1016/j.ijid.2020.03.003