SACICT เดินหน้าระบบ “SACICT Archive” เฟส 2 ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมอาเซียน รวบรวมผลงานศิลปาชีพ และงานศิลปหัตถกรรม ครูศิลป์ของแผ่นดินครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ต่อเนื่อง บนแพลทฟอร์มเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวบรวมข้อมูลผลงานหัตถกรรมกว่า 2,000 ชิ้น พร้อมเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ศิลปหัตถกรรมของไทยที่ใหญ่ที่สุด ตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งในเอเชีย
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ SACICT เปิดเผยว่า ในฐานะที่ SACICT เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประกอบอาชีพเพื่อสร้างงานศิลปาชีพ และสนับสนุนด้านการตลาดให้กับงานศิลปาชีพ ตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมรวบรวมองค์ความรู้ อนุรักษ์ สืบสาน คุณค่าแห่งงานศิลปาชีพและงานหัตถศิลป์ของไทย และยังมุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมของชาติ
โดยได้ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม เผยแพร่บนระบบดิจิทัลสู่การเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทย (SACICT Arts and Crafts Knowledge Centre) เพื่อให้การเก็บรวมรวมองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมของไทยได้รับการเรียบเรียงบันทึกองค์ความรู้เชิงลึก เพื่อเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของสุดยอดช่างฝีมือของไทยใน 10 กลุ่มงาน ประกอบไปด้วย เครื่องทอ, เครื่องดิน, เครื่องจักสาน, เครื่องไม้, เครื่องโลหะ, เครื่องหนัง, เครื่องกระดาษ, เครื่องหิน, เครื่องรัก และงานหัตถกรรมประเภทอื่นๆ ซึ่งดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ต่อยอดจากปี 2561 และปี 2562 ที่ได้เก็บข้อมูลผลงานศิลปหัตถกรรมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยในปี 2563 นี้เก็บรวบรวมผลงานศิลปาชีพถึง 5 แห่งด้วยกันคือ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ จังหวัดลำปาง และโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อฯ บ้านทุ่งจี้ จังหวัดลำปาง รวมถึงผลงานศิลปหัตถกรรมในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งการดำเนินงานต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา SACICT เดินหน้ารวบรวมองค์ความรู้ที่หลอมรวมอยู่ในผลงานศิลปหัตถรรมไทยแล้วมากกว่า 2,000 ชิ้นงาน
“ข้อจำกัดที่ผ่านมาของการเข้าถึงผลงานศิลปหัตถกรรมของไทย คือไม่มีศูนย์รวมองค์ความรู้ที่ชัดเจน ข้อมูลกระจัดกระจาย ไม่มีการจัดหมวดหมู่ที่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลที่เข้าใจง่าย รวมถึงรายละเอียดกระบวนการขั้นตอนเทคนิค ทักษะเชิงช่างที่ไม่ได้ถูกรวบรวมไว้ เมื่อวันหนึ่งที่บุคคลผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมผู้ซึ่งเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้และภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมทรงคุณค่าเหล่านั้นเสียชีวิตลง องค์ความรู้เหล่านี้ก็จะสูญหายไปด้วย หรือบางครั้ง
หากผู้สนใจต้องการศึกษาข้อมูลเชิงลึกต้องเดินทางไปถึงแหล่งผลิต หรือไปพบผู้สร้างสรรค์โดยตรงเท่านั้น ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นนี้จึงถือเป็นพันธกิจของ SACICT ในการรวบรวมองค์ความรู้ อนุรักษ์ สืบสาน คุณค่าแห่งงานศิลปาชีพและงานหัตถศิลป์ของไทย และนำเสนออย่างร่วมสมัย เพื่อให้ภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมไทย เป็น “คุณค่าความเป็นไทย” ที่อยู่คู่สังคมไทยได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ SACICT กล่าว
SACICT จะเชื่อมโยงการนำเสนอองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านระบบสืบค้นข้อมูลหัตถกรรม (SACICT Archive) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลงานศิลปหัตถกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดของไทยในขณะนี้ ได้รวบรวมฐานข้อมูลของงานหัตถศิลป์และงานนวัตศิลป์ ที่ได้รับการสร้างสรรค์โดย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้และชุมชนหัตถกรรม ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และอ้างอิงในเชิงประวัติศาสตร์
ตลอดจนสื่อหนังสือและสื่อวีดิทัศน์ที่ SACICT ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้บริการองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย ที่จะทำให้ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้แบบครบจบในหนึ่งเดียว โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้ประกอบการที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากทุกมุมโลก
ผู้สนใจสามารถใช้งานระบบสืบค้นข้อมูลหัตถกรรม หรือ SACICT Archive ที่สามารถใช้สืบค้นข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกมุมโลก ได้ง่ายขึ้น ผ่านเว็บไซต์ www.sacict.or.th โดยจะปรากฏไอคอน คลังข้อมูลหัตถศิลป์เมื่อคลิกเข้าสู่ระบบให้คลิกเลือก ระบบ SACICT Archive หรือเข้าสืบค้นได้โดยตรงทาง www.archive.sacict.or.th และสามารถเข้ามาสร้างประสบการณ์ความประทับใจในงานหัตถศิลป์จากองค์ความรู้แห่งงานศิลปหัตถกรรมไทยได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Post Views: 19