“PRINC” แตกไลน์สู่ธุรกิจ Healthcare รองรับชุมชนเมืองและผู้สูงวัย

หนึ่งในธุรกิจของเมืองไทยที่น่าสนใจและน่าลงทุน นั่นคือ ธุรกิจ “Healthcare” ที่ดูแลด้านสุขภาพของคนเรา โดยครอบคลุมขอบเขตค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่เรื่องยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ การบริการรักษาพยาบาล

   

 ล่าสุด บริษัท พริ้นซิเพิล  แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ  PRINC ได้เพิ่มไลน์ธุรกิจรองรับโอกาส ความเติบโตของธุรกิจดังกล่าว ซึ่งได้ซื้อกิจการ บริษัท อลิอันซ์ เมดิคอล เอเชีย จำกัด (Alliance Medical Asia Co., Ltd. – AMA) โดยวางตัว นายแพทย์สุนทร ศรีทา CEO กลุ่มธุรกิจ Healthcare พร้อมทีมบุคลากรชั้นนำ เข้าบริหารโรงพยาบาล 4 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและภาคกลางตอนบน เพื่อให้เป็นที่พึ่งของชุมชน ตามแนวทางใหม่ของ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ผู้บุกเบิกตลาดโรงพยาบาลเอกชนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

   


นายแพทย์สุนทร ศรีทา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Healthcare เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยของศูนย์วิจัยกรุงศรีและศูนย์วิจัยธนาคารออมสินถึงแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2561 พบว่า ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยในช่วงปีที่ผ่านมาเติบโตค่อนข้างดี โดยอัตราการขยายตัวของรายได้สูงกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP และขยายตัวตัวอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของตลาดผู้ป่วยในประเทศและผู้ป่วยต่างชาติ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักสนับสนุนคือ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีอำนาจการซื้อสูง อัตราการใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผ่านรงพยาบาลเอกชนของคนไทยต่อ GDP ที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่น ๆ จะเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

นอกจากนี้ประชากรสูงอายุที่ต้องการการดูแลและรักษาพยาบาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในระยะยาวสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) จะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น จากสัดส่วนผู้สูงอายุ วัย 65 ปีขึ้นไป ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จะมีความต้องการด้านบริการด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นกุล่มที่มีอัตราของการเจ็บป่วยสูงและเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้  จึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จำนวนผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มมากขึ้นจาก 3.1 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 10.3 ล้านคน ในปี 2562

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Healthcare กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยต่อมาคือ การขยายตัวของชุมชนเมืองจากข้อมูลของสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ระบบความเป็นเมืองของไทยจะขยายตัวจาก 35.6 % ในปี 2558 เป็น 40.7 % ในปี 2568 สะท้อนว่าความเป็นเมืองที่เจริญและกระจายตัวกว้างขึ้น จะเป็นโอกาสในการขยายการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคต เมื่อเทียบกับความต้องการใช้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ค่อนข้างอิ่มตัว

ทางด้านอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงของคนไทยมีมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยและการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดบวม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทยและประเทศอาเซียนอื่น ๆ โดยการบริโภคน้ำตาลที่สูงสุดในอาเซียน ทำให้คาดว่าความต้องการใช้บริการทางการแพทย์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพของการรักษาพยาบาล และจุดแข็งด้านราคาค่าบริการทางการแพทย์ของไทยที่ยังดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งไทยได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก โดยคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและหนุนให้ตลาดโรงพยาบาลเอกชนในประเทศเติบโตขึ้น และปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของเอเชีย โดยกำหนดและดำเนินการตามแผนพัฒนาประเทศไทยในเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ.2559-2568 การเปิดเสรีทางการค้าหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงการส่งเสริมให้คนไข้ชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงสุขภาพในประเทศไทย

นายแพทย์สุนทร ศรีทา กล่าวถึงกรณีที่บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อลิอันซ์ เมดิคอล เอเชีย จำกัด (Alliance Medical Asia Co., Ltd. – AMA) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังใน 3 จังหวัดบริเวณภาคกลางตอนบน ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช มีจุดเด่นทางด้านการเป็นศูนย์รังสีที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงและให้บริการรักษาอย่างครบถ้วน,โรงพยาบาลปากน้ำโพ 1,โรงพยาบาลปากน้ำโพ 2 มีจุดเด่นคือ การเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลที่ใช้ระบบไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ ระบบ Smart System และได้รับการรับรองมาตรฐาน HIMSS Analytics EMRAM Stage 6 เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานระดับสูงในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับบริการดูแลผู้ป่วย เทียบชั้นกลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำของโลก และ โรงพยาบาลสหเวชพิจิตร ที่ให้บริการดีเยี่ยมจนมี Market Share สูงถึง 55 %  พร้อมทั้งรับจ้างบริหารโรงพยาบาลอีก 1 แห่งในกรุงเทพมหานครว่า  

ทั้งนี้ทาง PRINC ได้เข้ามาพัฒนาศักยภาพทั้งทางด้านการเงิน และการรักษาพยาบาลของแต่ละโรงพยาบาล รวมทั้งยังได้วางแผนในการทำ Shared Services สำหรับโรงพยาบาล เพื่อบริหารงานจัดซื้อ งานบริหารคลัง งานระบบบัญชี และระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในรูปแบบใหม่ พร้อมนำ Cloud Technology มาใช้เพื่อช่วยการบริหารจัดการรูปแบบของโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย (Network Hospital Management) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และรองรับการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลในเครือในอนาคต รวมถึงการชูจุดแข็งคือ การมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล การให้บริการที่รวดเร็วและดีเยี่ยม และมีราคาที่สมเหตุสมผล

   

“โดยเป้าหมายหลักตามที่ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริษัท ได้ให้วิสัยทัศน์ไว้คือโรงพยาบาลในเครือจะต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดียิ่งขึ้นและได้รับประโยชน์จากการเป็นเครือโรงพยาบาลที่สามารถแบ่งปันทรัพยากรกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการให้บริการผู้ป่วย และเน้นการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างช่วยเหลือกัน เสริมสร้าง และเติบโตไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งบริษัทฯ และผู้ใช้บริการ สำหรับเป้าหมายในอนาคตถ้าหากมีการชัดเจนในทุกด้านมากขึ้น เรามีการขยับขยายธุรกิจอย่างแน่นอน”

สำหรับคณะผู้บริหารมืออาชีพท่านอื่นประกอบด้วย นายแพทย์อาทิตย์  เปี่ยมคล้า, นายแพทย์วรัญญู  สัตยวงศ์ทิพย์,นายแพทย์อธิวัฒน์  น้อยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิษณุเวช, ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ก่อพงศ์  รุกขพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากน้ำโพ และ นายแพทย์ชัยสิทธิ์  ศรีทองชัย

  ทั้งนี้ บริษัท พริ้นซิเพิล  แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังริมทรัพย์ภายใต้วิสัยทัศน์องค์กร 
“เราเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยในระดับแนวหน้า โดยการพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยมุ่งพัฒนาโครงการในทำเลที่อยู่ย่านศูนย์การธุรกิจ และเป็นผู้ให้บริการบริหารจัดการอาคารสำนักงานงานแบบครบวงจร โดยทีมงานมืออาชีพ อย่างโปร่งใส ยุติธรรม”

 พร้อมทั้งดำเนินงานภายใต้พันธกิจคือ มีการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบสารสนเทศ ธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว และอีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการเติบโตของรายได้และกำไร ตลอดจนจนสร้างผลตอบแทนสูงสุดถือหุ้น

บริษัท พริ้นซิเพิล  แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ได้ยึดตามแนวทางปฏิบัติใน 7 หัวข้อหลักตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดขึ้น และ ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมคือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อพนักงาน ความรับผิดชอบต่อผู้ยบริโภค สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย การทมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม และการให้ความสำคัญกับการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม